เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการถือศีลอดในช่วงสิบวันแรก ของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการถือศีลอดในช่วงสิบวันแรก ของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ

เรื่องการถือศีลอดในช่วงสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ ได้มีการขัดแย้งในหมู่นักวิชาการเป็นสองทัศนะดังนี้

ทัศนะแรก บอกว่า ถือศีลอดแค่วันอะเราะฟะฮฺ ส่วนวันอื่นไม่มีการถือศีลอด

ทัศนะที่สอง บอกว่าถือศีลอดได้ทั้งเก้าวันเริ่มตั้งแต่วันที่หนึ่งไปจนถึงวันที่เก้าเดือนซุลหิจญะฮฺ แต่เน้นการถือศีลอดในวันที่เก้า(วันอะเราะฟะฮฺ)

ซึ่งสาเหตุของการขัดแย้ง เนื่องจากว่ามีหะดีษสองบทที่ดูขัดแย้งกันดังนี้

บทแรก

عن عائشة قالت : ( ما رأيت رسول الله صلى الله عليه وسلم صائما في العشر قط ) رواه مسلم. وفي رواية : ( لم يصم العشر).

รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่าฉันไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดเลยในสิบวันแรก(ของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ) และในอีกสายรายงานระบุว่า “ท่านนบีมิเคยถือศีลอดในสิบวันแรก(ของเดือนซุลหิจญะฮฺ)” บันทึกโดยอิมามมุสลิม

บทที่สอง

عن هُنَيْدَةَ بن خالد رضي الله عنه عن امرأته عن بعض أزواج النبي صلى الله عليه وسلم قالت : ” كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَصُومُ تِسْعَ ذِي الْحِجَّةِ وَيَوْمَ عَاشُورَاءَ وَثَلَاثَةَ أَيَّامٍ مِنْ كُلِّ شَهْرٍ أول اثنين من الشهر والخميس

รายงานจากฮุนัยดะฮฺ บุตรของคอลิด รายงานจากภรรยาท่านอื่นๆของท่านนบี บอกว่า “ท่านนบีถือศีลอดเก้าวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ และถือศีลอดในวันอาชูรอ และถือศีลอดสามวันในทุกๆเดือน และถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสตอนต้นเดือน” บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด

โดยชัยคฺอัลบานีย์ตัดสินว่าเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮฺโดยบรรดาผู้รู้ได้มีแนวทางการปฏิบัติต่อหะดีษสองบทที่ดูผิวเผินขัดแย้งกันดังต่อไปนี้

แนวทางที่หนึ่ง บรรดาผู้รู้ที่เลือกจะตัดสินว่า หะดีษบทใดเมื่อพิจารณาแล้วมีน้ำหนักมากกว่ากัน(ตัรเญียะหฺ) โดยมีทัศนะในการให้น้ำหนักแก่หะดีษสองทัศะดังนี้ทัศนะแรก ผู้รู้บางท่านเช่น อิมาม ซัยละอีย์ บอกว่า หะดีษอาอิชะฮฺเป็นหะดีษถูกต้อง(เศาะเหี๊ยะฮฺ) ส่วนหะดีษอีกบท เป็นหะดีษอ่อนหลักฐาน(เฎาะอีฟ)ทัศนะที่สอง บรรดาผู้รู้ที่บอกว่า หะดีษทั้งคู่ ต่างถูกต้องใช้ได้ทั้งคู่ เพียงแต่เห็นสมควรว่า เลือกเอาบทที่ยืนยันว่ามีการถือศีลอด ดีกว่า บทที่บอกว่าไม่มีการถือศีลอด เช่น ท่านอิมามบัยฮะกีย์กล่าวว่า หะดีษที่ยืนยันว่า ท่านนบีถือศีลอด เป็นหะดีษที่เหมาะสมมากกว่า เพราะ หากว่ามีหะดีษสองบทที่ถูกต้องทั้งคู่ดูขัดแย้งกัน ให้ยกเอาหะดีษที่ยืนยันมานำหน้าก่อนหะดีษที่ปฏิเสธหรือระบุว่าไม่มีและ อิมามอะหมัด และอิมามอิบนุลก็อยยิม ก็มีความเห็นในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงชัยคฺอัลบานีย์ (จากการที่ท่านบอกว่า หะดีษที่ยืนยันว่าท่านบีถือศีลอดเป็นหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮฺถูกต้อง)สรุปคือ หะดีษทั้งสองบทเป็นหะดีษที่ถูกต้องทั้งคู่ ดังนั้นบทที่ยืนยันว่าท่านนบีถือศีลอด จึงมีน้ำหนักมากกว่า

แนวทางที่สอง บรรดาผู้รู้ ที่เลือกจะ”ผสานรวมหะดีษสองบทนี้เข้าด้วยกัน”(ญัมอฺ) โดยมีความเห็นว่า หะดีษสองบทนี้ ดูผิวเผิน เหมือนจะขัดแย้งกัน แต่จริงๆแล้ว สามารถผสาน และรวมเข้าด้วยกันโดยไม่ขัดแย้งกันได้ดังนี้ หะดีษที่ระบุว่า ไม่เห็นท่านนบีถือศีลอดในช่วงสิบวันแรกนั้น เนื่องจากว่า เป็นไปได้ว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺไม่เห็นท่านบีถือศีลอด แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ท่านนบีไม่ได้ถือศีลอดจริงๆ เพราะเป็นไปได้ว่า ท่านถือศีลอด แต่นางไม่เห็น เนื่องจาก เป็นช่วง ที่ท่านนบีอยู่กับภรรยาคนอื่นๆ หรือ อาจจะเป็นไปได้ว่า นางไม่เห็น เนื่องจากว่า ปีนั้น ท่านนบี ไม่ได้ถือศีลอดเนื่องจากเหตุจำเป็นและอุปสรรค เช่น เจ็บป่วย หรือ เดินทางดังนั้น นางจึงไม่เห็นท่านนบีถือศีลอดในช่วงสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ แต่เศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆเห็น ซึ่งผู้รู้ที่มีความเห็นลักษณะนี้ ได้แก่ อิมามนะวะวีย์ อิมามเชากานีย์ ฯลฯและเชคอุษัยมีนก็ได้กล่าวว่า แม้หากว่า หะดีษทั้งสองบทจะขัดแย้งกันและไม่สามารถรวมกันได้ก็ตาม และหะดีษที่ระบุว่าท่านบีถือศีลอดในช่วงสิบวันแรก จะเป็นหะดีษเฎาะอีฟ(อ่อนหลักฐาน)ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี ได้มีหะดีษที่ศอเหี๊ยะฮฺ(ถูกต้อง)ระบุถึงความประเสริฐของการทำความดีในช่วงสิบวันแรกขของเดือนซุลฮิจญะฮฺ ดังนั้น การถือศีลอดในช่วงสิบวันแรกนี้ จึงไม่ถือว่าถูกคัดค้าน และสามารถกระทำได้ เนื่องจากว่าถือเป็นการทำความดีชนิดหนึ่งจากความดีงามทั้งหลายนั่นเองเชคชังกีฏีย์กล่าวว่า หะดีษที่ระบุว่า ท่านนบีไม่ได้ถือศีลอด(หะดีษท่านหญิงอาอิชะฮฺ) ไม่ได้เป็นการยืนยันอย่างเด็ดขาดว่า ท่านนบีไม่ได้ถือศีลอดในช่วงสิบวันแรกจริงๆ เนื่องจากว่า ท่านนบีได้กล่าวระบุถึงคุณค่าและผลบุญของการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ และเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าท่านนบีจะไม่ได้ถือศีลอด ก็ไม่ได้หมายความว่า การถือศีลอดในช่วงสิบวันแรกจะเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ หรือ กระทำไม่ได้ เนื่องจากว่า มีความดีบางอย่างที่ท่านนบีได้บอกถึงความประเสริฐแต่ท่านเองก็ไม่ได้กระทำ เช่น การถือศีลอดที่ดีที่สุด คือการถือศีลอดของท่านนบีดาวูด คือการถือแบบวันเว้นวัน แต่ท่านนบีมุฮัมมัดเอง ก็ไม่ได้ถือศีลอดแบบที่นบีดาวูดได้กระทำจากทั้งหมดที่ผมได้ยกมาข้างต้น

ผมขอสรุปว่า การถือศีลอดภาคอาสาสมัคร(สุนนะฮฺ หรือ มุสตะหับ)ในช่วงสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ เป็นสิ่งที่กระทำได้ และการขัดแย้งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ในเรื่องนี้ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากว่า การถือศีลอดในลักษณะนี้ เป็นเพียงการถือศีลอดภาคอาสามสมัคร(มุสตะหับ)ไม่ใช่เป็นการถือศีลอดแบบภาคบังคับ(ฟัรฎู , วาญิบ) ฉะนั้นผู้ใดที่เลือกตัดสินใจจะยึดทัศนะที่บอกว่า ไม่มีการถือศีลอดในช่วงสิบวันแรก นอกจากวันอะเราะฟะฮฺ ตามที่หะดีษได้ระบุเอาไว้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของเขา และผู้ใดที่เลือกตัดสินใจว่า มีการถือศีลอดในช่วงสิบวันแรก โดยเฉพาะในวันอะเราะฟะฮฺ ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะเลือกได้ เนื่องจากมีหลักฐานระบุเอาไว้เช่นกัน ดังนั้นการยุติปัญหาด้วยการสมานฉันท์ ปรองดองและให้เกียรติกันและกันระหว่างสองฝ่ายที่เห็นขัดแย้งกันในประเด็นนี้ย่อมดีที่สุด ขอให้อัลลอฮฺทรงประทานทางนำอันถูกต้อง มั่นคงให้กับท่านพี่น้องมุสลิมทั้งหลาย และโปรดผสานหัวใจเราทั้งหลายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ทางนำอันถูกต้องของพระองค์ อามีนหมายเหตุ ช่วงสิบวันแรกของเดือนซุ้ลหิจญะฮฺ คือ วันที่หนึ่งไปจนถึงวันที่เก้า ไม่นับวันที่สิบ เพราะวันที่สิบคือ วันอีฎิ้ลอัฎฮา และวันอีดเป็นวันฉลองรื่นเริงของอิสลาม ดังนั้นจึงไม่มีการถือศีลอดใดๆในวันอีดนั่นเอง และการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ เป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ และไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ ส่วนผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์ ไม่สมควรถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ เพื่อทุ่มเทแรกกายแรงใจทั้งหมดไปในการขอดุอาและเก็บแรงในการประกอบพิธีฮัจญ์ วัลลอฮุอะอฺลัม