การเรียกภรรยาคนแรกว่า เมียหลวง และภรรยาคนที่สองหรือคนหลังจากนั้นว่า เมียน้อย
การเรียกดังกล่าวนี้ ถือเป็นการใช้คำพูดที่ขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
เนื่องจาก ความหมายของคำว่า เมียหลวง และเมียน้อย นั้นมีความหมายตามหลักภาษาที่ขัดกับหลักคำสอนของอิสลาม
โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นฉบับมาตรฐานของภาษาไทย ได้ให้ความหมายของคำว่าเมียหลวงและเมียน้อยไว้ ดังนี้
เมียหลวง : น.(คำนาม) เมียที่ยกย่องว่าเป็นใหญ่.
เมียน้อย : น. หญิงที่ชายเลี้ยงดูอย่างภรรยา แต่ไม่มีศักดิ์ศรีเท่าเมียหลวง หรือ ไม่ได้จดทะเบียน.
อ้างอิงจากเว็บไซต์ ราชบัณฑิตยสถาน ว่าด้วยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
http://www.royin.go.th/dictionary/index.php
จากความหมายของเมียหลวงและเมียน้อยที่ทางพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ไว้
เราจะเห็นว่า คำทั้งสองนี้ขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน
เพราะ อิสลามสั่งใช้ให้สามีนั้นดูแลและให้ความยุติธรรมแก่บรรดาภรรยาของเขาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในทุกๆเรื่องที่เขาสามารถจะให้ความยุติธรรมได้ ดังนั้น ภรรยาทุกคนไม่ว่าจะคนแรก คนที่สอง หรือสามสี่ จึงล้วนแต่มีศักดิ์ศรีและเกียรติเท่าเทียมกัน โดยไม่สามารถแบ่งแยกหรือลำเอียงว่า ใครใหญ่สุด มีศักดิ์ศรีมากสุด หรือใครต่ำต้อยสุด
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่มีภรรยาสองคน แล้วเขาลำเอียงให้แก่ภรรยาคนใดคนหนึ่งมากกว่าอีกคน เขาจะมา(พบอัลลอฮฺใน)วันกิยามะฮฺในสภาพที่สีข้างของเขาเอียง” บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด และท่านฮาฟิซ อิบนุ หะญัร และชัยคฺอัลอัลบานีย์ได้ตัดสินว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษที่ศ่อเหี๊ยะหฺถูกต้อง
ชัยคฺอุษัยมีน ได้กล่าวว่า “และทัศนะที่ถูกต้องในเรื่องของการให้ความยุติธรรมต่อบรรดาภรรยานั้นก็คือ เขาจะต้องให้ความยุติธรรมต่อบรรดาภรรยาของเขาทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในทุกๆเรื่องที่เขาสามารถจะให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญ ค่าเลี้ยงดู แม้แต่กระทั่งการร่วมหลับนอนหากเขามีความสามารถก็จำเป็นจะต้องให้ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันด้วย”
(ดูตำราฟัตวา นูร อะลัดดัรบฺ เล่มที่10 หน้าที่252)
ชัยคฺศอลิหฺ อัลเฟาซานได้กล่าวว่า “จำเป็นสำหรับสามีทุกคนที่มีภรรยาหลายคนจะต้องให้ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันแก่บรรดาภรรยาของเขา ทั้งในเรื่องค่าเลี้ยงดู ที่พัก เครื่องแต่งกาย และการแบ่งเวรในการอยู่ร่วมกับภรรยาแต่ละคน(อัลกิสมะฮฺ) ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จำเป็นที่สามีจะต้องให้ความยุติธรรมต่อบรรดาภรรยาของเขาทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าภรรยาคนนั้นจะร่ำรวยหรือยากจน เพราะการให้ความยุติธรรมต่อภรรยาทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็น(วาญิบ)”
(ดูตำรา อัลมุนตะกอ มิน ฟะตาวัลเฟาซาน เล่มที่24 หน้าที่89)
จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการเรียกเมียคนที่หนึ่ง(คนแรก)ว่าเมียหลวง และการเรียกเมียคนที่2 3 หรือ4ว่าเมียน้อย จึงเป็นการใช้คำเรียกที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาดังที่ได้กล่าวไป ซึ่งสิ่งที่ถูกต้องนั้นก็คือ เขาจะต้องเรียกบรรดาภรรยาของเขาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเรียงลำดับการแต่งงาน เช่น ภรรยาคนที่หนึ่ง(คนแรก), ภรรยาหลังจากคนแรกว่า ภรรยาคนที่สอง ภรรยาคนที่สาม ภรรยาคนที่สี่
หมายเหตุ
ความยุติธรรมในที่นี้คือ ความยุติธรรมในสิทธิการปรนนิบัติเลี้ยงดูทางการปฏิบัติ ไม่รวมถึงการเอนเอียงในด้านหัวใจ(เช่น รักภรรยาคนใดคนหนึ่งมากกว่าคนอื่นๆ) เพราะอัลลอฮฺทรงผ่อนผันให้ และทรงแจ้งไว้ว่าฝ่ายชาย(สามี)ไม่สามารถจะให้ความยุติธรรมในการรักภรรยาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ประเด็นหลักๆๆๆๆของบทความนี้ก็คือ
มุสลิมไทยห้ามเรียกภรรยาคนแรกว่า เมียหลวง และห้ามเรียกภรรยาคนถัดๆไปว่าเมียน้อย เพราะความหมายของคำว่าเมียหลวงและเมียน้อยนั้นขัดกับคำสอนของศาสนาอิสลามนั่นเอง ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องคือ ต้องเรียกว่า ภรรยาคนที่หนึ่ง(คนแรก) และเรียกภรรยาคนถัดๆไปว่า ภรรยาคนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่
ส่วนประเด็นอื่นๆ กรุณาอย่าดึงดราม่านะครับ ให้เป็นดุลพินิจและความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวนะครับ ไม่ได้สนับสนุนหรือห้ามปราม หรือชี้นำ ชักนำใครเป็นการเฉพาะ
วัลลอฮฺ อะอฺลัม
บทความจากเฟสบุ๊ค อ.ยะห์ยา หัสการบัญชา