บทความ

ความรู้จะถูกถอดถอนออกไปจากประชาชาตินี้ในยุคสุดท้ายได้อย่างไร?

ความรู้ถูกถอดถอนออกไปจากประชาชาตินี้ในยุคสุดท้ายได้อย่างไร? ในยุคสุดท้ายคือช่วงเวลาที่ใกล้จะถึงวันกิยามะฮฺ วันแห่งการพิพากษา อัลลอฮฺจะทรงถอดถอนความรู้ออกจากบ่าวของพระองค์ ดังที่อัลหะดีษที่ถูกต้องหลายๆบทได้บอกเอาไว้ และมันคือหนึ่งในสัญญาณของวันกิยามะฮฺ ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวไว้ในหะดีษเศาะเหี๊ยะหฺบทหนึ่งว่า”แท้จริงอัลลอฮฺจะมิทรงถอดถอนความรู้(ศาสนา)ออกจากตัวบ่าวของพระองค์ แต่ทว่าพระองค์จะทรงถอดถอดความรู้(ศาสนา)ออกจากประชาชาตินี้ด้วยการปลิดชีวิตบรรดาผู้รู้ จนกระทั่งเมื่อไม่มีผู้รู้หลงเหลืออยู่บนโลกนี้แม้แต่ผู้เดียวอีกแล้ว ผู้คนก็จะพากันแต่งตั้งพวกผู้นำที่โง่เขลาขึ้นมา และเมื่อพวกเขาถูกถาม(ปัญหาศาสนา)พวกเขาก็จะตอบปัญหาโดยไม่มีความรู้ ซึ่งทำให้พวกเขาหลงผิด และทำให้ผู้อื่นหลงผิดไปด้วย” บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์และมุสลิม และการถอดถอนความรู้ศาสนาออกจากประชาชาตินี้แบ่งออกเป็น สามระยะด้วยกันดังนี้ ระยะที่หนึ่งความเกรงกลัวอัลลอฮฺจะถูกถอดออกจากหัวใจของบรรดาผู้รู้ส่วนมาก แต่ความรู้ศาสนายังคงอยู่กับพวกเขาโดยจะยังถูกถ่ายทอดและเผยแผ่ออกไปไม่ว่าจะเป็นการบรรยาย, การสอนในวงวิชาการ,ในห้องเรียน ฯลฯ สรุปคือ ความรู้ศาสนายังคงมีอยู่แต่ความเกรงกลัวอัลลอฮฺจะหายไปจากหัวใจของผู้รู้ส่วนมาก เว้นแต่ผู้รู้ส่วนน้อยที่ยังคงมีความเกรงกลัวอัลลอฮฺอยู่ในหัวใจอย่างแท้จริง ซึ่งบรรดาผู้รู้เหล่านี้คือส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนผู้ได้รับความช่วยเหลือ(อัฏฏออิฟะฮฺ อัลมันศูเราะฮฺ)ในยุคใกล้วันกิยามะฮฺ (ขอให้เราทั้งหลายได้เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขาด้วยเถิด) ระยะที่สองความรู้ศาสนาจะถูกถอดถอนออกจากประชาชาตินี้ด้วยการเสียชีวิตของบรรดาผู้รู้ในระยะนี้ความรู้ศาสนาก็จะถูกอัลลอฮฺเรียกกลับคืนสู่พระองค์ด้วยการปลิดชีวิตบรรดาผู้รู้ในประชาชาตินี้ ดังนั้นบรรดาผู้รู้ที่แท้จริงจะหลงเหลืออยู่น้อยจนกระทั่งไม่หลงเหลืออีกเลย ส่วนนักอ่านตำราศาสนาและผู้ที่มีตำราศาสนาตุนเก็บไว้ที่บ้านและที่ทำงานของพวกเขาจะมีมากมาย แต่ทว่าหลังจากอ่านตำราแล้วพวกเขาเหล่านี้กลับมีความเข้าใจศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงเพียงน้อยนิดเท่านั้น เพราะการมีความรู้ความเข้าใจศาสนาอย่างแท้จริงนั้นจะได้มาโดยวิธีการศึกษาร่ำเรียนและรับการถ่ายทอดจากบรรดาผู้รู้ที่แตกฉานอย่างแท้จริง ซึ่งในยุคใกล้วันกิยามะฮฺผู้รู้ที่แท้จริงนั้นจะหาได้ยากจนแทบจะไม่หลงเหลืออยู่อีกเลย ส่วนบรรดานักอ่านตำราศาสนาจะมีมากมายดาษดื่น ดังนั้นบรรดานักอ่านเหล่านั้นก็จะตอบปัญหาศาสนาให้แก่ผู้คน โดยที่พวกเขาคิดว่าตนเองนั้นคือผู้รู้เพียงเพราะการอ่านตำราแต่ทว่าไม่ได้รับความรู้และร่ำเรียนมาจากผู้รู้ที่แตกฉานอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้พวกเขามีความผิดพลาดในการตอบปัญหาศาสนา ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า “และผู้คนก็จะแต่งตั้งผู้นำที่โง่เขลาขึ้นมาและเมื่อพวกเขาถูกถามปัญหาศาสนา พวกเขาก็จะตอบปัญหาโดยไม่มีความรู้ ซึ่งทำให้พวกเขาหลงผิด และทำให้ผู้อื่นหลงผิดตามไปด้วย” ระยะที่สาม(ระยะสุดท้าย) อัลกุรอานจะถูกถอดถอนออกจากบ่าวของพระองค์ในประชาชาตินี้ โดยอัลลอฮฺจะทรงปลิดชีพบรรดามุสลิมและโลกใบนี้จะไร้ซึ่งมุศหัฟ(คัมภีร์อัลกุรอาน) ดังนั้นอัลกุรอานจะไม่หลงเหลืออยู่บนโลกนี้อีกต่อไป วัลลอฮฺ อะอฺลัม สรุปจากตำรามุฮาเฎาะรอต ฟิล อะกีดะฮฺ วัดดะอฺวะฮฺ ของ […]

admin

November 14, 2021

บทความ

มารยาทในการให้สล่ามเมื่อเข้ามาในที่มีการเรียนการสอนหรือที่ประชุม

มารยาทในการให้สล่ามเมื่อเข้ามาในที่มีการเรียนการสอนหรือที่ประชุม คำถาม. / เมื่อมีคนๆหนึ่งเข้ามาในสถานที่ประชุม ซึ่งสถานที่นั้นมีทั้งอุละมาอฺ บรรดานักศึกษา และบุคคลทั่วไป ซึ่งพวกเขาต่างก็กำลังพูดคุยสนทนากันอยู่ เขาควรจะให้สลามและนั่งลงหรือเขาควรจะให้สลามแก่ทุกคน…? ขอให้ท่านช่วยชี้ขาดในประเด็นนี้ให้ทราบพอสังเขป. คำตอบ. / เชคเฟาซาน. บิสมิ้ลลาฮฺฮิรเราะมานนิรเราะฮีม อัลฮัมดุลิ้ลลาฮิร็อบบิ้ลอาละมีน ….ฯ ไม่มีข้อสงสัยใดๆเลยที่ว่า สถานที่ชุมนุมต่างๆนั้นต้องมีมารยาทที่ควรปฏิบัติ ดังนั้นถ้ามีคนเข้ามาในที่ที่มีการชุมนุม ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวนั้นเป็นการรวมตัวกันเพื่อแสวงหาความรู้ และมีการเรียนการสอน ก็สมควรให้เขานั่งลงและฟัง และให้ทำการสลามหลังจากที่มีการว่างเว้นจากการเรียนการสอน เช่นเดียวกัน หากว่ามีการนั่งกันอยู่ซึ่งเป็นการนั่งประชุมคุยกัน และมีคนหนึ่งกำลังพูดอยู่และส่วนที่เหลือกำลังฟังอยู่ เวลานั้นให้เขานั่ง(ฟัง)ด้วยเช่นกันและอย่าเพิ่งให้สล่ามจนกว่าผู้พูดจะหยุดพูดเสียก่อน ส่วนในกรณีของการพูดคุยที่เป็นการพูดคุยกันเองระหว่างผู้ที่มาชุมนุมในสถานที่ดังกล่าวนั้น ก็ให้เขาให้สล่ามโดยรวมๆ หลังจากนั้นสามารถเลือกให้สล่ามเฉพาะคน ซึ่งเป็นใครก็ได้ที่เขาต้องการจะให้สล่ามแก่บางคน แปลโดย อ.มุบาร็อก แดงโกเมน อ้างอิง:https://salaficentre.com/…/manners-giving-salaams…/ http://www.alfawzan.af.org.sa/…/files/14330102_01.mp3

admin

November 14, 2021

บทความ

คุณลักษณะ 3 ประการที่ผู้สั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่วจำเป็นจะต้องมี

คุณลักษณะ 3 ประการที่ผู้สั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่วจำเป็นจะต้องมี คุณลักษณะที่หนึ่ง ความรู้คือ ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่บทบัญญัติศาสนาสั่งใช้และสั่งห้าม เพราะหากว่าผู้ทำหน้าที่นี้มีความรู้ในด้านนี้ไม่เพียงพอหรือมีความรู้อย่างผิดๆ จะทำให้เขาผิดพลาดและนำไปสู่ความวุ่นวายและความเสียหายอย่างมากในสังคม เพราะบางครั้งเขาก็สั่งใช้ผู้คนให้ทำความชั่วเพราะคิดว่ามันคือความดี และบางทีเขาก็ห้ามปรามผู้คนไม่ให้ทำความดีเพราะคิดว่ามันคือความชั่ว และบางครั้งเขาก็ตัดสินใจผิดพลาดในการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียในเรื่องๆหนึ่งทำให้สังคมได้รับความเสียหายและพลาดโอกาสจากเรื่องดีๆ ทั้งนี้ก็เพราะความผิดพลาดของเขาในการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียในเรื่องๆหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมฉะนั้นแล้วการมีความรู้ในการสั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่วจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับแรกสำหรับผู้ทำหน้าที่นี้ คุณลักษณะที่สอง ความสุภาพคือ ความสุภาพในการสั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่วตามบทบัญญัติศาสนา โดยผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องมีสุภาพต่อกลุ่มเป้าหมายของเขาตามขอบเขตที่บทบัญญัติศาสนาได้ชี้แนะไว้ เพราะมันมีผลอย่างมากที่จะช่วยโน้มน้าวให้กลุ่มเป้าหมายน้อมรับด้วยความเต็มใจในการมุ่งมั่นทำความดีและลด ละ เลิก จากการทำความชั่ว และผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องมีความแตกฉานในการจับประเด็นและมีปฏิภาณไหวพริบเพื่อที่จะได้เลือกใช้วิธีการและรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน หากกลุ่มเป้าหมายคือมุสลิมที่ดีจะใช้วิธีและรูปแบบใด หากกลุ่มเป้าหมายคือมุสลิมที่หมกมุ่นอยู่กับอบายมุขจะใช้วิธีใด คุณลักษณะที่สาม ความอดทนอย่างมากคือ ความอดทนต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจากการสั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหา หรืออุปสรรค ความยากลำบากใดๆ ไม่ว่าเป็นการด่าทอ การใส่ร้าย การโจมตีผ่านช่องทางต่างๆ เพราะความอดทนในการทำหน้าที่นี้คือคุณลักษณะหนึ่งของบรรดาศาสนทูตและบรรดานบี และต้องระลึกไว้เสมอว่าแท้จริงอัลลอฮฺจะทรงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อดทน และอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนรางวัลให้แก่ผู้ที่อดทนอย่างมากมายโดยมิอาจคำนวณได้ วัลลอฮฺ อะอฺลัม สรุปประโยชน์ที่ได้รับจากตำรามุฮาเฎาะรอตฟิลอะกีดะฮฺ วัดดะอฺวะฮฺ ของชัยคฺศอลิหฺ อัลเฟาซาน เล่มที่ 2 หน้าที่ 313-314 ในหัวข้อที่30 ว่าด้วยเรื่องการสั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่ว อ.ยะห์ยา หัสการบัญชา https://www.facebook.com/haskanbancha/posts/10157517112920742

admin

July 20, 2021