ที่มาของกลุ่มตับลีฆและข้อผิดพลาดจากหนังสือของกลุ่ม

แรงกระเพื่อมจากญะมาอะห์ตับลีฆและคนเกาะกระแสด่า

ตามที่มีกระแสว่าทางการซาอุฯ (กระทรวงกิจการศาสนา) มีหนังสือเวียนให้คอเต็บแต่ละมัสยิดทั่วราชอาณาจักรคุตบะห์เตือนถึงอันตรายของความเชื่อแบบกลุ่มญะมาอะห์ตับลีฆ

ปรากฏว่าในบ้านเรามีแรงกระเพื่อมจากคนหลายกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของคุตบะห์ของบางมัสยิดในซาอุฯ

ประเด็นที่ดูเหมือนจะจับมาเล่นกันคือ มีคอเต็บบางท่านกล่าวว่าญะมาอะห์นี้เรียกร้องไปสู่การกราบไหว้กุโบร์ ซึ่งคนที่วิจารณ์เขาบอกว่าประเด็นนี้มั่วมาก และบางคนลามเลยไปจาบจ้วงคนซาอุฯ ทั้งหมดว่า “ใส่แว่นดำ”

สาเหตุที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คือ คนที่ออกกับญะมาอะห์เขายืนยันว่าไม่ปรากฏว่ามีการเชิญชวนให้ไปกราบไหว้กุโบร์ที่ไหน บางคนก็บอกว่ามีเพื่อนเป็นคนในญะมาอะห์ ถามดูก็ได้รับคำยืนยันว่าไม่มี เลยตัดสินใจกล่าวหาผู้รู้ซาอุฯ พวกใส่ “แว่นดำ” (คือมองผู้อื่นผิดไปหมด)

ความขุ่นเคืองใจหรือความไม่พอใจเหล่านี้พุ่งตรงไปที่คำว่า “เรียกร้องให้ไปกราบไหว้กุโบร์” จริงๆ แล้วผมเองก็ยังมิได้ยินกับหูครับว่ามีผู้รู้ท่านไหนพูดเฉพาะเจาะจงแบบนั้น แต่ที่ได้เห็นก็คือโพสต์ของคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นั่นเอง

เรื่องของญะมาอะห์ตับลีฆ มีงานเขียนค่อนข้างมากอยู่ และเคยมีวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาชาวปากิสถานถ้าจำไม่ผิดน่าจะชื่อว่า บัยยาน มุฮัมหมัด อัสลัม ซึ่งนำเสนอแก่มหาวิทยาลัยอิสลามียะห์แห่งมะดีนะห์มุเนาวะเราะห์ เมื่อหลายปีมาแล้ว โดยใช้ชื่อหนังสือว่า عقيدة جماعة التبليغ وافكارمشايخها

นอกเหนือจากนี้ยังมีตำราอีกมากมายเกี่ยวกับที่ไปที่มาของญะมาอะห์นี้ ซึ่งคงจะเอามาแนะนำกันภายหลังเพราะเกรงจะยืดยาว

ตำราเกือบทุกเล่มล้วนชี้ไปที่พื้นฐานอะกีดะห์และแนวทางของผู้ก่อตั้งรวมถึงบรรดาผุ้สืบสานแนวทางดังกล่าวว่ายึดแนวศูฟีเป็นหลัก มีการให้และรับสัตยาบัน(มุบายะอะห์) ลักษณะศูฟียะห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาย “ญัชตียะห์” ศูฟีเกือบทุกสายนิยมให้ความสำคัญกับกุโบร์ของโต๊ะวะลีกะรอมัต และมักจะนำศพคนระดับดังกล่าวไปฝังไว้ในมัสยิดเพื่อไว้เยี่ยมเยือนและตะวัสซุ้ล

ดังนั้นจึงไม่แปลกหากคุตบะห์ของบรรดาอิหม่ามในซาอุฯ จะจับประเด็นนี้ขึ้นมาพูด และนั่นเป็นการพูดถึงระดับแกนนำผู้ก้อตั้งญะมาอะห์ ไม่ใช่พูดถึงระดับปลายแถวทั่วไป เพราะในระดับปลายแถวโดยทั่วไปก็ไม่มีการให้สัตยาบันใดๆ เช่นกัน

ดังนั้นการสอบถามเอาแต่เฉพาะคนปลายแถว อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายถ้ายังมิได้ลงลึกศึกษาอย่างแท้จริงต่อที่ไปที่มาของญะมาอะห์ดังกล่าว เมื่อยังไม่ทราบแน่ชัดก็ไม่ควรรีบร้อนไปกล่าวหา “ผู้รู้ซาอูฯ ทั้งประเทศว่าใส่แว่นดำ” หรือแม้แต่จะรีบร้อนไปกล่าวหาเขาว่า “มั่ว” ผมเชื่อว่าผู้รู้เขาไม่มั่วแน่นอน และหากไม่มีข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ชัดเจน รับรองว่าเขาคงไม่ออกมาชี้แนะทำนองนั้นแน่นอน

อามรมณ์ร่วมมิได้สะท้อนภาพที่แท้จริงใดๆ แต่สติและตำราต่างหากที่จะสะท้อนข้อเท็จจริงของแต่ละกลุ่มได้ ดังนั้นสำหรับคนที่นับได้ว่าเป็นนักวิชการควรศึกษาให้ดีและให้ถ่องแท้เสียก่อน ก่อนที่จะใช้แว่น “ตะรีกัตในคราบซุนนะห์” ออกมาสำรอกความรู้สึกสวนตนต่อผู้รู้ในประเทศซาอุฯ และหากผู้ใดเป็นสมาชิกปลายแถวของญะมาอะห์ ทางที่ดีค่อยๆ เรียนรู้และศึกษาไป อย่าหุนหันพลันแล่นออกมากล่าวหาผู้รู้เขาว่า “มั่ว”

ข้อเท็จจริงหากค้นหาจริงๆ ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะสืบเสาะได้ครับ อย่าสักแต่จะใช้อารมณ์ก่อนใช้สติและแสวงหาข้อมูลที่ถูกต้อง

ที่มาของกลุ่มตับลีฆ

เชคมัยยาน มุฮัมหมัด อัสลัม ได้กล่าวถึงหนังสือ “มัลฟูซอดอิลยาส” ของเชค มุฮัหมัดมันซูร อัลนั๊วอฺมานี ว่าเชคมุฮัมหมัด อิลยาส (ผู้วางรากฐานญะมาอะห์ตับลีฆ) เองที่ได้กล่าวถึงแนวทางของญะมาอะห์ว่าได้มาด้วยวิธีใด

ในหนังสือดังกล่าวยืนยันว่าเชคมุฮัมหมัดอิลยาสได้แนวทางดังกล่าวมาจากวิธีการ “กัชฟ์-ญาณ” คือเกิดนิมิตในความฝันถึงบทอธิบายอัลกุรอ่าน (ตัฟสีร) อายะห์ที่ 110 จากซูเราะห์ อาละอิมรอน

كنتم خير أمة أخرجت للناس تأمرون بالمعروف وتنهون عن المنكر وتؤمنون باالله“

พวกเจ้าคือประชาชาติที่ดีที่สุดที่ถูกนำออกมาสู่มวลมนุษย์ชาติ พวกท่านใช้กันให้ทำดี ห้ามปรามกันจากสิ่งที่ไม่ดี และศรัทธาต่ออัลลอฮ์”

สรุปคือ

1-จะต้องออกไปเพื่อเรียกร้องสู่อัลลอฮ์ อยู่นิ่งกับที่ไม่ได้ (أخرجت)

2-ออกไปแล้วอีกหม่านจะเพิ่มขี้น (تؤمنون بالله )

3-นัยยะของคำว่า “ประชาชาติ” หมายถึงคนอาหรับ ( كنتم خير أمة)

4-และนัยยะของคำว่า “มวลมนุษยชาติ” หมายถึงคนที่มิใช่อาหรับ

(للناس) جماعة التبليغ لميان محمد أسلم ٠ص ١٢ ـ ١٣ (بواسطة كتاب حقيقة الدعوة إلى االله للشيخ سعد الحصي)

จากข้อมูลเบื้องต้นนี้แสดงให้เห็นว่าคำอธิบายอัลกุรอ่านโองการดังกล่าวได้มาจากความฝันของ “เชคมุฮัมหมัด อิลยาส” ผมแปลคำว่า “อัลกัชฟ์” ว่านิมิตหรือญาณ

ส่วนใครจะแปลเป็นอย่างอื่นก็กรุณาหาคำที่มันใกล้เคียงกับคำๆ นี้หน่อยก็แล้วกันครับ โดยรวมๆ แล้วคำว่า “อัลกัชฟ์” สำหรับศูฟีแล้วอาจมีการใช้ในหลายความหมาย แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการหยั่งรู้เรื่องเร้นลับ เข้าถึงความหมายลึกลับของตัวบท บางคนถึงกับใช้วิชานี้ในการพิสูจน์ว่าฮะดีษใดศ่อเฮี๊ยห์หรือไม่ศ่อเฮี๊ยห์ก็มี

บางคนมีญาณแก่กล้าก็สามารถมองเห็นมะลาอิกะห์และเห็นดวงวิญญาณของเหล่านบีต่างๆ สามารถได้ยินเสียงนบีเหล่านั้น และยังสามารถเก็บความรู้จากการได้ยินนั้นมาปฏิบัติได้อีกด้วย ที่ว่านี้มิใช่ในขณะหลับหรือฝันครับ แต่ในขณะที่ยังตืนๆ อยู่นี่แหละ นั่นก็เป็นอีกนัยยะหนึ่งของคำว่า “อัลกัชฟ์” (หากใครสงสัยสิ่งที่ผมพูดก็ให้กลับไปดูได้ในหนังสือของอิหม่าฆ่อซาลี ที่ชื่อว่า “อัลมุงกิซอะนิฎฎ่อล้าล” หน้าที่ 140)

ส่วนอีกคำหนึ่งที่มีบางคนนำมายำรวมกันเสมือนว่าเป็นคำๆเดียวกัน คือ “กะรอมะห์” ทั้งสองคำแม้แต่เขียนก็ต่างกัน ในเชิงความหมายแม้อาจมีส่วนใกล้เคียงกันแต่ก็ต่างกันในรายละเอียด แต่ในที่นี้จะข้อเว้นที่กล่าวถึงเพราะยังไม่ถึงเวลาและเกรงจะยืดยาว

สรุปให้สั้นๆ คือ อายะห์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งญะมาอะห์ตับลีฆ ความหมายอายะห์ดังกล่าวได้มาจากนิมิตของเชคมุฮัมหมัด ซะกะรียา และเป็นความหมายที่ไม่ปรากฏในตำราตัฟสีรใดๆ ก่อนหน้านี้ เป็นความหมายเพิ่งจะได้รับการถูกค้นพบ (กัชฟ์) หลังจากที่อัลกุรอ่านได้รับการประทานลงมาแล้วมากกว่าพันปี

ท่านผู้เจริญด้วยสติและปัญญาทั้งหลายก็เอาไปตรองดูนะครับ ผมแค่ชี้ให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับคำอธิบายอัลกุรอ่านของผู้ก่อตั้งญะมาอะห์ตับลีฆ

ในเชิงตัฟสีรจะมีการตัฟสีรลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า “อัลอิชาเราะห์” และส่วนใหญ่จะนิยมกันในหมู่ศูฟี ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะห์มิได้ปฏิเสธการตัฟสีรลักษณะดังกล่าวโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ได้ยอมรับโดยสิ้นเชิง

ท่านบอกว่าหากมันเป็นลักษณะเทียบเคียงสิ่งที่ใกล้เคียงกับตัวบทที่ปรากฏ มีความหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดประสานกัน ไม่ค้านซึ่งกันและกัน สิ่งนั้นก็ยอมรับได้

ดังนั้นคำว่า “ตัฟสีรลักษณะอิชาเราะห์” นี้ เป็นลักษณะเทียบเคียงแบบสมควรกว่าหรือไม่สมควรกว่าอย่างนี้ก็สามารถยอมรับได (เช่น ห้ามกล่าวคำไม่สุภาพต่อพ่อแม่ แย่ยิ่งกว่านั้นคือตบตีและทำร้าย คือชี้ไปสู่สิ่งที่สูงกว่าหรือต่ำกว่า อย่างนี้เป็นต้น)

การยึดเรื่อง “เล่าและความฝัน” มาเป็นหลักของศาสนา เป็นเอกลักษระของกลุ่ม “ศูฟี-ตะรีกัต” แต่ไม่ใช่แนวทางของบรรชนที่ดีในยุคต้นๆ อิสลาม

ตามที่กล่าวแล้วว่าผู้ที่วางรากฐานญะมาอะห์ตับลีฆคือเชคมุฮัมหมัด อิลยาส โดยผ่านการฝันและนิมิตว่าได้รับคำอธิบายอัลกุรอ่านมา คือให้ออกไปเผยแพร่ เมื่อออกไปแล้วจะเพิ่มอีหม่าน หยุดอยู่กับที่ไม่เพิ่มอีหม่าน นี้คือเนื้อหาหลักๆ ส่วนรายละเอียดก็ได้กล่าวไปแล้ว

นอกเหนือจากตัฟสีรที่ได้มาจากความฝันแล้ว ตามข้อมูลที่ปรากฏในประวัติของเชคมุฮัมหมัด อิลยาส ยังมีว่า เขาได้รับ “คำสั่ง” ในทำการ “ตับลีฆ” (ลุกขึ้นมาเผยแพร่)

ผู้ที่กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ใครอื่น เขาผู้นั้นคือเชคอะบุลฮะซัน อัลนัดวี่ (แกนนำนัดวะตุลอุละมาอ์ ผู้โด่งดัง) เขาได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “เชคมุฮัหมัด อิลยาส และท่านเผยแพร่ศาสนาของท่าน” ดังนี้

اقام بعد الحج مدة في المدينة المنورة في شهر شوال 1344 هـ فكان يقول الشيخ ( محمد إلياس ) أمرت في اثناء إقامتي في المدينة بالقيام بالتبليغ وقيل نستخدمك ، قضيت اياما في قلق واضطراب كيف يكون مثلي الضعيف بهذا العمل فقصصت هذه القصة إمام عارف قال لماذا انت في هذا القلق الاضطراب فما قيل لك ان تقوم بالعمل إنما قيل لك نستخدمك فمن يرد يستخدمك فليستخدم

“หลังจากทำฮัจญ์แล้วเขา(เชคมุฮัมหมัด อิลยาส) ยังคงพำนักอยู่มะดีนะห์อีกระยะเวลาหนึ่ง จนล่วงมาถึงเดือนเชาวาลปี ฮ.ศ. 1344 ท่านเคยกล่าวว่าฉันถูกใช้ขณะที่ฉันพำนักอยู่มะดีนะห์ ให้ดำรงการตับลีฆ (เผยแพร่) โดยมีเสียงกล่าวแก่ฉันว่า “เราจะให้เจ้ารับใช้” ฉันอยู่ในความสับสนและปั่นป่วนอยู่หลายวัน คนอ่อนแออย่างฉันหรือจะทำงานนี้ได้ ฉันจึงเอาความไปเล่าให้กับอิหม่ามอาเรฟ (ไม่ระบุชื่อ แต่ระบุว่าเป็น “อาเรฟ” ซึ่งหมายถึงบุคลลระดับสูงของฝ่ายศูฟี) ท่านอาเรฟจึกล่าวว่า เหตุใดเจ้าถึงสับสนและปั่นป่วนเล่า สิ่งที่ถูกล่าวแก่ท่านที่วให้ท่านทำงานนั้น มันก็คือคำว่า “เราจะให้เจ้ารับใช้” ผู้ที่ต้องการจะให้ท่านรับใช้อย่างไรเสียเขาก็จะใช้ท่าน(อยู่ดี)”

ข้อสังเกต

1-นอกเหนือจากเชคมุฮัมหมัด อิลยาส ได้ความหมายของอัลกุรอ่านผ่านทางนิมิตแล้ว ข้อมูลนี้ยังยืนยันอีกว่าเขายังได้รับบัญชาให้ทำการ “ตับลีฆ” ถามว่าผู้มีบัญชามายังเขาน่าจะเป็นใครได้มากที่สุด คนธรรมดาสามัญทั่วไปคงไม่ใช่แน่นอน หรือว่าเป็นนบี มุฮัมหมัด ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่น่าจะใช่อีกเช่นกันเพราะในสำนวนใช้ว่า “เราจะให้เจ้ารับใช้” เหลือความเป็นไปได้ทางเดียวคือผู้บัญชามายังมุฮัมหมัด อิลยาส คือ “อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา”

2-เหตุที่ต้องชี้ชัดลักษณะดังกล่าวเพราะมีเหตุผลสองประการคือ สำนวนการออกคำสั่งคือ “เราจะให้เจ้ารับใช้” สำนวนนี้ไม่เหมาะแม้แต่จะเป็นการใช้ของนบี ศ้อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม

ประการที่สอง เมื่อเชคมุฮัหมัด อิลยาส นำความไปเล่าให้กับบุคคลระดับสูงของฝ่ายศูฟีซึ่งแม้แต่จะมิเอ่ยนามว่าเป็นใคร แต่สาระสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเขาผู้นั้นอยู่ในขั้น “อาเรฟบิลลาห์” คือผู้หยั่งรู้และเข้าถึงอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเหนือกว่าคนสามัญทั่วไป

ท่านอาเรฟผู้นี้ชี้ไปในทางเดียวแบบไม่ลังเลว่า ผู้จะให้มุฮัมหมัด อิลยาสรับใช้คือผู้ที่มุฮัมหมัด อิลยาสไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากอัลลอฮุ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา

3-การตรัสโดยตรงจากอัลลอฮ์ ที่มีต่อเชคมุฮัมหมัด อิลยาสนี้ ถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากและสำคัญมากเช่นกัน การตรัสโดยตรงนี้มิได้มีการระบุว่าจากความฝันหรือขณะยังตื่นอยู่

จากบรรดานบีที่อัลลอฮ์ตรัสโดยตรงกับท่านเหล่านั้นเห็นจะมีไม่กี่ท่านนะครับ ท่านแรกคือท่านนบีอาดำ อะลัยฮิสลาม ท่านที่สองคือท่านนบี มูซาอะลัยฮิสลาม ผู้มีฉายาว่า “กะลีมุลลอฮ์” และท่านนบีมุฮัหมัด ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ครั้งเมื่อขึ้นเข้าเฝ้า (เมี๊ยอฺร๊อจญ์) ในอัลกุรอ่านมีข้อความชัดเจนว่ามีนบีบางส่วนเท่านั้นที่อัลลอฮ์ตรัสด้วยตรงๆ (مِنْهُمْ مَنْ كَلَّمَ اللهُ) البقرة /253 สำหรับฉายาที่ท่านนบี มูซาได้รับคือ “กะลีมุลลอฮ์” ก็เพราะว่าอัลลอฮ์ตรัสกับนบีมูซาโดยตรงในโลกนี้ แต่สำหรับนบีอาดำนั้นอัลลอฮ์ตรัสโดยตรงก็จริงแต่เป็นในสวรรค์ ส่วนท่านนบีมุฮัมหมัด ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ตรัสโดยตรงตอนเข้าเฝ้าเหนือชั้นฟ้าทั้งเจ็ด

ดังนั้นหากตามการยืนยันของเชคอะบูลฮะซัน อัลนัดวี่นี้ ก็เท่ากับว่า เชคมุฮัมหมัด อิลยาสได้รับการตรัสโดยตรงจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในโลกนี้ คือเทียบได้กับท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลามเลยทีเดียว

4-จากข้อที่สามเราก็คงสามารถเรียกเชคมุฮัมหมัด อิลยาสได้ว่า “กะลีมุ้ลลอฮ์” คนที่สองได้เลย ซึ่งแต่เดิมมีเพียงท่านเดียวคือท่านนบีมูซา อะลัยอิสลาม ประเด็นต่อมาคือสถานะของเชคมุฮัมหมัด อิลยาส หลังจากที่ได้รับวะฮีโดยตรงจากอัลลอฮ์แล้วควรจะเป็นใครและแบบใด ผมจะไม่กล่าวชี้นำไปทางไหนครับ ขอให้ท่านผู้อ่านพิจาณากันเอาเองนะครับ

5-ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าท่านเชคอะบุลฮะซัน อัลนัดวี มิได้กุเรื่องเท็จขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายเชคมุฮัมหมัด อิลยาสเป็นแน่แท้ เพราะหนังสือดังกล่าวเป็นการเขียนบรรยายถึงคุณความดีของเชคอิลยาสและผลงานการเผยแพร่ของท่าน

6-สำหรับคนที่ตามอย่างเดียวโดยไม่ยอมศึกษาในที่ไปที่มาของญะมาอะห์ตับลีฆ ผมว่าหากได้ยินได้ฟังเรื่องราวแปลกๆ แบบนี้ ก็อย่างรีบร้อนปฏิเสธ ทางที่ดีควรค้นหาความจริงจะดีกว่า

ส่วนคนที่จับจ้องจะด่าผู้รู้ซาอุฯ อย่างเดียวก็ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถ่องแท้เสียก่อน คือก่อนที่จะกล่าวหาผู้รู้เขาด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เช่น “พวกเขาใส่แว่นดำมองโลกในมุมมืด ไม่ยอมรับคุณความดีหรือเจตนาดีของผู้ใด”

หากคิดจะเป็นนักวิชาการก็ควรสวมบทบาทของนักวิชาการเหมือนที่ได้อวดอ้างไว้ในหลายวาระ ไม่ใช่สาดแข้งเปล่าแบบคนชาวบ้านเขานะครับ และเวลาหยิบยกคำพูดของปราชญ์ท่านใดมาก็อย่างทำแบบสุกเอาเผากินแล้วทึกทักฟันธงเอาเองว่าเขาตัดสินอย่างโน้นอย่างนี้

เรื่องนี้จะนิ่งเงียบไปเฉยๆ นะคงไม่ได้ ในเมื่อจาบจ้วงผู้รู้เขาจนเสียหายไปแล้ว ทางทีดีและที่ถูกต้อง ต้องออกมาชี้แจงแก้ไขจะสง่างามที่สุด แต่ถ้าใช้วิชาขอมดำดิน ผมเชื่อว่ามีคนพร้อมจะขุดดินตามหา “ขอม” ครับผม

ตัวอย่างความผิดพลาดร้ายแรงจากหนังสือของกลุ่มตับลีฆ

หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่องราวบางส่วนของญะมาอะห์ตับลีฆไปแล้ว ผมสัญญาว่าจะนำเรื่องเล่า (ฮิกายาต) ที่พบในหนังสือ “ฟะฎิอิลุลอะอฺม้าล” และในหนังสืออื่นๆ ของญะมาอะห์มาเสนอ ขอนำเรื่องแรกที่เกี่ยวกับเรื่องเล่าจากหนังหนังสือดังกล่าวมาเสนอสักเรื่องหนึ่งก่อน ผมคัดมาจากภาคภาษาอาหรับและไม่แน่ใจว่าในฉบับภาษาไทยจะมีปรากฏตามนี้ไหม

ดังนี้

قال محمد زكريا الكاندهلوي أن موسى بن محمد قال : أن رجلاً أعجمياً كان يطوف بالكعبة وكان رجلاً ديناً صالحاً وسمع في أثناء طوافه صوت خلخال إمراة كانت تطوف بالبيت فنظر هذا الرجل إليها فخرجت يد من الركن اليماني ولطمته لطمة خرجت عينه من رأسه !!!! وخرج صوت من جدار بيت الله : انك تطوف بيتي وتنظر الى غيري فهذه اللطمة جزاء هذه النظرة وإن فعلت مرة ثانية نجازيك!!! ! )) فضائل حج للشيخ زكريا ص105

“มุฮัมหมัด ซะกะรียา อัลกันดะห์ลาวี่ กล่าวว่า ท่านมูซา อิบนุ มุฮัมหมัด กล่าวว่า มีชายมิใช่อาหรับคนหนึ่งฏ่อวาฟรอบกะอฺบะห์ เขาเป็นคนดีมีศาสนา ขณะฏ่อวาฟอยู่นั้นพลันได้ยินเสียงกระพวนข้อเท้าของหญิงนางหนึ่งที่กำลังฏ่อวาฟ ณ บัยติลาห์ ชายคนดังกล่าวจึงหันไปมองนาง ทันใดนั้นก็มีมือหนึ่งโผล่ออกมาจากมุมยะมานีและตบเขาจนตาถลนออกนอกเบ้า และมีเสียงดังมาจากจากผนังบัยตุลลอฮ์ว่า เจ้ามาฏ่อวาฟยังบ้านข้าแต่เจ้ากลับมองผู้อื่นจากข้า การตบครั้งนี้คือผลตอบแทนการมองดังกล่าว(ของเจ้า) หากเจ้ากลับไปทำซ้ำอีกข้าจะลงโทษเจ้า(อีก)”

ฟะฎอิลุ้ลฮัจญ์ โดยมุฮัมหมัด ซะกะรียา หน้า 105

ข้อสังเกตุ

1-หากอ่านดูแบบผิวเผินก็เหมือนจะไม่มีอะไรนอกเสียจากจะส่งเสริมให้คนมุ่งมั่นที่จะฏ่อวาฟด้วยความสงบและไม่สนใจสิ่งไร้สาระหรือสิ่งที่อาจผิดต่อการฏ่อว่าฟ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีนั่นมันอันตรายมากๆ เพราะเป็นการอ้างอิงถึงอัลลอฮ์ ซุบอานะฮูวะตะอาลาเลยทีเดียวว่าตรัสโดยตรงกับชายคนดังกล่าว

2-การอ้างว่าอัลลอฮ์ตรัสคำหนึ่งคำใดหรือพูดว่าอย่างหนี่งอย่างใด หากพระองค์มิได้เป็นผู้พูดหรือตรัสมันก็จะกลายเป็นการกล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การที่เรากล่าวว่าท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่าอย่างโน้นอย่างนี้โดยที่ท่านมิได้กล่าวตามนั้น นั่นถือว่าเป็นบาปใหญ่และมีโทษถึงขั้นตกนรกหากตั้งใจกล่าวเท็จต่อท่าน แล้วถ้าหากผู้ที่เราอ้างอิงถึงเป็นอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ละมันจะมีโทษรุนแรงกว่าไหม

3-ผู้ที่อัลลอฮ์จะตรัสด้วยโดยตรงก็มีแค่บรรดานบีหรือร่อซู้ลของพระองค์เท่านั้น และก็ไม่ใช่นบีหรือร่อซู้ลทุกท่านที่อัลลอฮ์จะตรัสด้วยโดยตรง เท่าที่มีตัวบทหลักฐานเห็นจะมีก็แต่เพียงสามท่านคือหนึ่งท่านนบีอาดำ อะลัยฮิสลาม สองท่านมูซา อะลัยฮิสลาม สามท่านนบี มุฮัหมัด ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทั้งท่านนบีอาดำและนบีมุฮัมหมัดก็มได้มีรับสั่งโดยตรงในมิติแห่งดุนยา ในมิติแห่งดุนยาจะมีก็แต่เพียงท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลาม ดังนั้นท่านจึงถูกขนานนามว่า “กะลีมุลลลอฮ์” และในอัลกุรอ่านก็มีตัวบทตรงๆ ว่า “อัลลอฮ์ตรัสกับมูซาโดยแท้จริง”

4-นอกเหนือจากการตรัสต่อคนสามัญที่มิใช่นบีแล้ว ยังมีมือโผลออกมาจากผนังบัยตุ้ลลอฮ์ ถ้าตามเรื่องเล่าข้างต้นมือดังกล่าวคงเป็นของใครไปไม่ได้นอกเสียจากจะเป็นมือของอัลลอฮ์ คนที่น่าจะตอบโต้เรี่องนี้มากที่สุดไม่น่าจะเป็นผมนะครับ น่าจะเป็นอาจารย์สายอะชาอิเราะห์ที่มีบางคนอ้างว่าเตาบัตจาก “วะฮะบี” กลับไปเป็นอะชาอิเราะห์ เพราะอะชาอิเราะห์ปฏิเสธเรื่องยืนยันอวัยวะกับอัลลอฮ์และตีความคำว่ามือที่ปรากฏในอัลกุรอ่านเป็นโน้นนี่นั่น แต่ที่แปลกก็คือคนที่ออกมาป้องญะมาอะห์ตับลีฆก็คือคนที่ปฏิเสธคุณลักษณะคำว่า “มือ” ของอัลลอฮ์

5-นินานหรือเรื่องเล่าใดๆ หากมันมิใช่เรื่องจริงและผู้เล่าก็ประสงค์เพียงให้คนฟังเพลิดเพลิน ฟังแล้วขำๆ กันไป ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ขอดุอาอฺให้คนประเภทนี้หายนะ ก็แล้วถ้าไปกล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์ตรงๆ เพื่อให้คนเข้าใจศาสนาผิดไปอีกมันจะขนาดไหน ท่านก็ลองตรองกันดูนะครับ

النَّبيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلِيهِ وسَلَّم يقول : ويلٌ للذي يحدِّثُ بالحديثِ ليُضحكَ بهِ القومَ فيكذِبُ ويلٌ لهُ ويلٌ لهُ .وفي البابِ عن أبي هُرَيرَةَ هذا حديثٌ حسنٌ .رواه الترمذي (2417) وأبو داود (4990) .

6-ใครจะป้องใครก็ควรจะทำการลงศึกษาเสียบ้าง ไม่ใช่คิดแต่จะเป็นปรปักษ์กับอุละมาอฺซาอุฯ แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ไม่ลืมหูลืมตาครับ

จบข้อความโพสต์จาก อ.อิสฮาก พงษ์มณี

หรือตัวอย่างอีกมากมายจากหนังสือต่างๆของกลุ่ม เช่น ลัยละตุ้ลก็อดร์ มีหลายคืน และการรู้ล่วงหน้าของคนที่มีกัชฟฺ (ทีมงานแอดมิน ชมรมอัซซะละฟิยูน)